ความเห็น: 0
PSU ไบโอดีเซล 66: การแยกคืนแอลกอฮอล์
การแยกคืนแอลกอฮอล์
การแยกคืนแอลกอฮอล์ในการผลิตไบโอดีเซลเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะจัดเป็นต้นทุนวัตถุดิบที่มีราคาสูง โดยในการทำปฏิกิริยาทรานส์เอสเตอริฟิเคชันที่ใช้แอลคาไลน์เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาจะใช้แอลกอฮอล์เกินพอประมาณ 100% ซึ่งแอลกอฮอล์ที่เหลือจากการทำปฏิกิริยานี้ ถ้าเป็นเมทานอลจะกระจายตัวอยู่ในเฟสไบโอดีเซลประมาณ 40% และเฟสกลีเซอรอลประมาณ 60%
การแยกแอลกอฮอล์ออกจากไบโอดีเซลและกลีเซอรอลอาจทำได้หลายกรรมวิธี เช่น การระเหยแบบแฟลช(flash evaporation) การกลั่น และการล้างด้วยน้ำ โดยสารผสมเมทานอล/ไบโอดีเซล และเมทานอล/กลีเซอรอล จะไม่เป็นสารผสมอุดมคติ โดยมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างโมเลกุลกันอยู่ ดังนั้นการแยกเมทานอลให้เหลืออยู่น้อยมาก ๆ จึงเป็นเรื่องที่ยาก
กระบวนการล้างไบโอดีเซลด้วยน้ำ แล้วทำการแยกเมทานอลออกจากน้ำอีกครั้งเป็นกรรมวิธีที่มีราคาสูง เพราะมีน้ำผสมอยู่เป็นสัดส่วนที่สูงมาก ส่วนการกลั่นแยกเมทานอลออกจากไบโอดีเซลนั้นทำได้ไม่ยาก แต่หอกลั่นลำดับส่วนเป็นอุปกรณ์ที่ซับซ้อนทั้งการควบคุมและดำเนินการ ดังนั้นจึงมีค่าดำเนินการที่สูง ในระหว่างทางเลือกเหล่านี้ การระเหยแบบแฟลชจะเป็นทางออกที่ดีกว่า โดยการแยกเมทานอลให้เหลืออยู่ในไบโอดีเซลในจำนวนที่น้อยมากนั้น ต้องใช้กระบวนการระเหยหลายขั้นตอน ซึ่งรวมทั้งการระเหยภายใต้สุญญากาศด้วย ดังนั้นการตัดสินใจกำหนดอุปกรณ์ในกระบวนการแยกคืนทั้งหมดจะพิจารณาจาก 1) ปริมาณเมทานอลที่มากเกินพอในไบโอดีเซล 2) ค่าเมทานอลที่จะกำหนดให้คงเหลือในไบโอดีเซล 3) สาธารณูปโภคด้านความร้อนที่มีอยู่ (การให้ความร้อนและการทำให้เย็น) 4) วัสดุที่ใช้สร้างอุปกรณ์
เมทานอลที่แยกคืนได้ในการระเหยนี้ มักจะมีน้ำผสมอยู่เกินมาตรฐานที่จะนำไปใช้ใหม่ในกระบวนการผลิต จึงต้องทำให้บริสุทธิ์มากขึ้นด้วยการกลั่นหรือการดูดซับด้วย Molecular sieve ซึ่งพิจารณาทางเลือกเหล่านี้จะดูจากปริมาณน้ำที่มีอยู่ในเมทานอลรวมทั้งขนาดกำลังการผลิตด้วย
Zhou และ Boocock (2006) ศึกษาการกระจายตัวของแอลกอฮอล์ กลีเซอรอล เอสเตอร์ สบู่โซเดียม ในปฏิกิริยาทรานส์เอสเตอริฟิเคชันของน้ำมันถั่วเหลืองด้วยการจำลองแบบ พบว่าเมื่อผสมเอสเตอร์ กลีเซอรอล และแอลกอฮอล์เข้าด้วยกันด้วยการเขย่าอย่างรุนแรงแล้วปล่อยให้แยกชั้น จะไม่พบเอสเตอร์ในเฟสกลีเซอรอล เพราะไม่มี ได-,โมโนกลีเซอไรด์ซึ่งเป็นสารอิมัลซิฟายเออร์อยู่ในระบบ เหมือนกระบวนการผลิตไบดีเซลจริง และเมื่อจำลองแบบด้วยการเพิ่มตัวเร่งปฏิกิริยาโซเดียมเมทอกไซด์เข้าไป การกระจายตัวในเฟสทั้งสองแสดงได้ในตารางต่อไปนี้
Methanolysis mixture |
Ethanolysis mixture |
|||
Ester-rich phase |
Glycerol-rich phase |
Ester-rich phase |
Glycerol-rich phase |
|
Glycerol |
2.3% |
97.7% |
19.3% |
80.7& |
Alcohol |
42.0% |
58.0% |
75.4% |
24.6% |
Ester |
99.0% |
1.0% |
99.0% |
1.0% |
NaOR |
5.8% |
94.2% |
10.1% |
89.9% |
Chiu et al. (2005) ศึกษาการกระจายตัวของเมทานอลและตัวเร่งปฏิกิริยาระหว่างเฟสไบโอดีเซลและกลีเซอรอล โดยได้แสดงข้อมูลสมดุล P-T-x (ความดัน-อุณหภูมิ-โมลแฟรกชัน) ไว้ดังนี้
ข้อมูลความดัน-องค์ประกอบของระบบทวิภาคเมทานอล-ไบโอดีเซลที่ 100 °C และ 120 °C
Mole fraction Methanol |
Pressure, bar |
|
100 °C |
120 °C |
|
0.0430 |
0.28 |
0.54 |
0.1543 |
0.86 |
1.79 |
0.2714 |
1.40 |
3.12 |
0.4374 |
2.21 |
4.57 |
0.4983 |
2.52 |
4.93 |
0.6909 |
3.08 |
5.63 |
0.7930 |
3.21 |
5.72 |
0.8994 |
3.27 |
5.96 |
0.9543 |
3.31 |
6.14 |
ข้อมูลความดัน-องค์ประกอบของระบบทวิภาคเมทานอล-กลีเซอรอลที่ 100 °C และ 120 °C
Mole fraction Methanol |
Pressure, bar |
|
100 °C |
120 °C |
|
0.0554 |
0.09 |
0.18 |
0.1314 |
0.22 |
0.46 |
0.2421 |
0.43 |
0.89 |
0.4182 |
0.83 |
1.81 |
0.5520 |
1.21 |
2.45 |
0.7419 |
2.00 |
3.67 |
เทคโนโลยีที่ใช้ในการแยกคืนแอลกอฮอล์นั้นมีหลากหลายวิธีการ แล้วแต่กระบวนการและการออกแบบอุปกรณ์ เช่นเมื่อใช้ NaOH เป็นตัวเร่งปฏิกิริยา ถังเก็บกลีเซอรอลดิบจะถูกอุ่นให้มีอุณหภูมิในช่วง 55-60 °C เพื่อป้องกันการแข็งตัวของกลีเซอรอล และกลีเซอรอลจะถูกปรับให้มี pH ประมาณ 6 ก่อนผ่านเข้าเครื่องระเหย ซึ่งด้านบนอาจออกแบบให้มีคอลัมน์ซึ่งบรรจุวัสดุบรรจุชนิดพิเศษไว้ ไอที่ระเหยออกจากเฟสกลีเซอรอลจะผ่านคอลัมน์นี้ก่อนที่จะผ่านเข้าไปยังเครื่องควบแน่น และส่วนหนึ่งของเมทานอลที่ควบแน่นได้จะถูกป้อนกลับเป็นรีฟลักซ์กลับมาที่คอลัมน์อีกครั้ง ซึ่งเป็นการผสมผสานการกลั่นลำดับส่วนเข้ากับเครื่องทำระเหย โดยเมทานอลส่วนที่เหลือจากการป้อนกลับเป็นรีฟลักซ์ จะถูกทำให้เย็นแล้วนำเข้าถังเก็บเพื่อนำไปใช้ต่อไป
ผม..เอง
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « PSU ไบโอดีเซล 65: การกลั่นแบบมีป...
- ใหม่กว่า » PSU ไบโอดีเซล 67: การจัดการกลีเซ...
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้