ความเห็น: 0
การพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษ
โจทย์ใหญ่สำหรับการพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษสำหรับเด็กไทยคือจะทำอย่างไรดี เพราะชีวิตประจำวันของเราไม่ได้มีความจำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษเลย แล้วทำไมจะต้องเก่งภาษาอังกฤษ แล้วจะทำให้เก่งได้อย่างไร
ในฐานะผู้สอน (แต่ไม่ใช่วิชาภาษาอังกฤษ) ได้พยายามลบความคิดในสมองของนักศึกษาที่คิดว่าภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาพ่อ ภาษาแม่ของเรา พยายามลบปมในใจที่นักศึกษาหลายคนมีคือไม่ชอบวิชาภาษาอังกฤษ เนื่องจากไม่ชอบครูผู้สอนวิชานี้ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ประถม หรือมัธยม และพยายามสอนโดยที่นักศึกษามีโอกาสใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น ตั้งแต่ slide ในการสอน เอกสารอ่านประกอบ หนังสือ ฯลฯ
จากการประเมินผลการเรียนการสอนทั้งด้วยตนเองและตามระบบของมหาวิทยาลัยพบว่า feedback ค่อนข้างดีทีเดียว คือนักศึกษาพบว่าตนเองมีการพัฒนาทักษะด้านการอ่านมากขึ้นและรู้ศัพท์ต่างๆ มากขึ้น นอกจากนั้น เริ่มเปลี่ยนมุมมองว่าภาษาอังกฤษไม่ได้ยากมากมายดังที่คิด เริ่มคิดได้ว่าถ้าตั้งใจอ่านจริง ๆ ฉันก็อ่านรู้เรื่อง
การใช้ภาษาอังกฤษเพียงแค่ในห้องเรียนห้องสอนเท่านั้น ก็ยังเป็นการพัฒนาที่ยังอยู่ในวงจำกัดมาก และบางครั้งก็มีข้อจำกัดด้วยศักยภาพด้านภาษาอังกฤษของนักศึกษาที่ไม่เท่ากัน อาจส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของนักศึกษาและก่อให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบกันของนักศึกษาได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลการเรียน ได้ ทำให้ไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่
เมื่อภาคการศึกษาที่ผ่านมาเริ่มปรับใหม่ให้การติดต่อระหว่างนักศึกษากับผู้สอนไม่ว่าจะเป็นทาง e-mail หรือ line ฯลฯ ให้เป็นภาษาอังกฤษ และผลักดันให้นักศึกษาคุย line ระหว่างกันเองเป็นภาษาอังกฤษ เป็นการใช้ในวงแคบระหว่างเพื่อนสนิทที่ไม่ต้องเขินอายถ้าผิดพลาด ซึ่งมีนักศึกษาบางคน บางกลุ่มเริ่มปฏิบัติตาม และเล่าให้ฟังว่าช่วงแรก ๆ กว่าจะส่งออกไปได้สักข้อความเสียเวลานึกศัพท์ตั้งนาน ห่วงว่าจะใช้ grammar ผิดบ้าง แต่สุดท้ายก็ตัดใจได้ดังที่หลาย ๆ คนเตือนว่าอย่าห่วง grammar แค่ให้ผู้รับข้อความรู้เรื่องก่อน ช่วงหลัง ๆ เริ่มสนุกและส่งได้เร็วขึ้น ไม่เสียเวลาในการนึกคำศัพท์นาน ถ้านึกไม่ออกจริง ๆ บน smart phone ก็มี application dictionary ให้ใช้ ให้พึ่งพาได้ตลอดเวลา ความภูมิใจในตนเองเริ่มเกิดขึ้น
การผลักดันให้คุยกันเองทางline ดูจะเป็นวิธีที่ได้ผล เพราะอยู่กับชีวิตประจำวันของวัยรุ่นมากที่สุด และไม่ต้องอายใครเนื่องจากเป็นการสนทนาในวงจำกัด นักศึกษาพอจะสร้างความมั่นใจในตนเองได้ง่ายมากกว่าวิธีอื่น แต่ในฐานะผู้สอนก็ต้องใช้พลังอย่างมากในการพูดคุยให้นักศึกษาก้าวข้ามกำแพงแห่งความกลัว ความเกลียด ความอายออกไปให้ได้
การผลักดันเช่นนี้คงต้องทำต่อไปทุกภาคการศึกษาจนกว่าจะหมดแรง เพื่อเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้บัณฑิตจากมอ.ของเราที่จบออกไปมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดแรงงานมากขึ้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร
LUX
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « ไม่ใช่หน้าที่
- ใหม่กว่า » สอนอย่างไรไม่ให้น่าเบื่อ
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้