ความเห็น: 0
ย้อนอดีตผ่านแชร์ PSU. ตอนที่ 3
ย้อนอดีตตอนที่ 3
ตอนที่ 3 จะเล่าเรื่องที่มีผู้บันทึกขอมา คือ อยากจะให้ผมร้องเพลงน้ำตาพิมพ์ดีดพร้อมอักเสียงซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือเปล่า เสียงอาจจะไม่เพราะแต่ก็พอฟังได้ อย่างน้อยที่สุดสมัยประมาณ ปี 2522 ผมคนหนึ่งที่เป็นนักร้องประจำวงดนตรีของสโมสรอาจารย์และข้าราชการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สมัยนั้นวงนี้ดังมาก นักร้องและนักดนตรีมีทั้งอาจารย์ หมอ พยาบาล ข้าราชการและลูกจ้าง ซึ่งบุคลากรของคณะทรัพย์ฯ ก็มีหลายท่าน ตอนที่ 2 เขียนเพลงไว้ไม่จบ วันนี้จะเขียนให้จบเพลง เพื่อใครจะนำไปร้องเล่นบ้างก็ไม่สงวนสิทธิ์
ผมเป็นพนักงานพิมพ์ดีด นั่งน่าซีดต้องพิมพ์ดีดทั้งวัน
เหน็จเหนื่อยเหงื่อไหลเป็นมัน (ซ้ำ) พิมพ์จนมือสั่นเพื่อให้ทันเวลา
อนิจจาคนพิมพ์ดีด เป็นชีวิตบริการทั่วไป
อังกฤษหรือภาษาไทย (ซ้ำ) ผมก็พิมพ์ได้ตามคำบัญชา
พิมพ์ดีดนั้นเป็นงานสำคัญ คู่กับสารบรรณทุกหน่วยงานไป
เอกชนราชการแห่งใด (ซ้ำ) ขาดเสียไม่ได้คือพิมพ์ดีดเอย
บันทึกที่ 2 อยากจะให้ผมเล่าถึงเหตุการณ์ครุภัณฑ์หนีเข้าป่า (วัว) เรื่องมีอยู่ว่า ภาควิชาฯ ได้จัดซื้อวัวจำนวน 10 ตัว ซึ่งเป็นครุภัณฑ์ เป็นวัวพันธุ์เรดซินดี วัวสีแดง ซื้อมาจากสระบุรี ผู้ที่ควบคุมวัวมากับรถบรรทุก คือ นายสัตวแพทย์คำนวณ นกแก้ว ซึ่งเป็นสัตวแพทย์ในสมัยนั้น แต่ปัจจุบันท่านย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้ว สมัยนั้นท่าน รศ.ดร.พานิช ทินนิมิต เป็นหัวหน้าภาควิชาฯ ช่วงนั้นเป็นเวลาประมาณ 15.00 น. มีท่าน รศ.ดร.พานิช ทินนิมิต ผศ.วรวิทย์ วณิชาภิชาติ และอาจารย์ท่านอื่น ๆ พร้อมคนงานหลายคนไปรอรับวัวที่ฟาร์ม พอวัวลงจากรถจะต้อนเข้าคอก วัวตกใจวิ่งหนีไปทางเนินเขาซึ่งเป็นป่าทึบมาก ปัจจุบันเป็นบ้านพักผู้เชี่ยวชาญ แฟตมีเพียงแฟตเดียว คือ อ.90 ซึ่งอยู่ติดกับภาควิชากีฏะ นอกนั้นไม่มีแฟต แนวอ่างน้ำก็มีสโมสรอาจารย์และเรือนรับรอง นอกนั้นเป็นป่าดงดิบก็ว่าได้ ในจำนวนวัว 10 ตัว จับไว้ได้ 2 ตัว นอกนั้นวิ่งเข้าป่าไปทั้งหมด 8 ตัว ทั้งอาจารย์ ข้าราชการ และคนงานพยายามตามหา ก็ไม่พบประกอบกับเวลาก็เริ่มมืดจึงหยุดการค้นหา
ต่อมาวันรุ่งขึ้นก็เริ่มตามหาอีกก็ไม่พบ ทุกคนเริ่มมีอาการเคลียด จำได้ว่า ท่านผศ.วรวิทย์ ได้พูดในที่ประชุมที่ฟาร์มว่าเห็นควรทำบันทึกถึงท่านคณบดีเพื่อรายงานผลตามความเป็นจริง ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ท่าน ผศ.วรวิทย์ เป็นคนร่างหนังสือ ผมเป็นคนพิมพ์ มีอยู่ข้อความหนึ่งที่ผมจำได้ซึ่งเป็นข้อความที่ทุกคนต่างก็ชื่นชอบเป็นที่ฮือฮามากพอจะคลายเคลียดได้ คือ “เนื่องจากครุภัณฑ์ชิ้นนี้ได้วิ่งหนีเข้าป่าไป สุดวิสัยที่จะตามหา” ผมจำได้ว่าน้าเอื้อน สุวรรณคง ซึ่งเป็นผู้อาวุโสที่สุดที่ทำงานในฟาร์ม ได้พูดกับท่าน รศ.ดร.พานิช ทินนิมิตร ว่าน่าจะลองบนบานศาลกล่าวศาลพระภูมิเจ้าที่ซึ่งตั้งอยู่ใต้ต้นพะเนียง(ต้นเนียง) หน้าโรงเรือนแพะ ซึ่งเป็นศาลพระภูมิที่ทำขึ้นเองโดยใช้ไม้ และน้าเอื้อนนับถือมาก ทุกคนจึงตกลงให้น้าเอื้อนเป็นผู้บนบานศาลกล่าว ซึ่งคำพูดของน้าเอื้อนยังติดหูผมอยู่ทุกวันนี้ คือ “ขอบอกกล่าวถึงเจ้าที่เจ้าทางที่สิงสถิตย์อยู่ที่ศาลพระภูมินี้ได้ช่วยดลบันดาลให้วัวที่วิ่งหนีเข้าป่าไปให้ได้กลับมา แล้วข้าพเจ้าจะตั้งหัวหมู ไก่ และเครื่องเส้นไหว้ต่าง ๆ ให้ท่านได้เสวยหลังจากได้วัวกลับมา ซึ่งทุนคนก็เห็นด้วยต่างก็พูดกันว่า “ไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่” แต่ถึงยังไรก็ตาม ทุกคนก็พยายามตามหา โดยการเดินลุยป่าไปตามไหล่เขา สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ งูจงอางมากจริง ๆ แต่มันก็ไม่ทำร้ายเราเพราะเราไม่ทำร้ายมัน ขอให้เจ้าหน้าที่พัสดุทั้งหลายพึงระวังเป็นพิเศษถ้าครุภัณฑ์ (วัว) ตายมีซากก็พอให้สัตวแพทย์ตรวจสอบได้ ครุภัณฑ์ (วัว) จะได้กลับไม่หนอ ก็ขอให้ติดตามย้อนอดีตผ่านแชร์ PSU. ตอนที่ 4 ต่อไป
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « ย้อนอดีตผ่านแชร์ PSU.ตอนที่ 2
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้