ความเห็น: 3
ปัญหาสามประเด็นสำคัญในการเริ่มงานก่อตั้งคณะ (ตอน 3)
ในระยะเริ่มต้นงานบุกเบิกก่อตั้งคณะเมื่อปี พ.ศ.2517 นั้น ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยืมตัวผมมาช่วยราชการที่หาดใหญ่เพียงคนเดียว และจัดหาห้องทำงานให้ผมหนึ่งห้องกับโต๊ะทำงานและเก้าอี้ให้อีกอย่างละหนึ่งตัว ห้องทำงานนี้เป็นห้องใต้ดินที่หัวมุมบันใดชั้นล่างของอาคารสำนัก งานอธิการบดีสมัยนั้น ในปัจจุบัน(พ.ศ.2550)เป็นอาคารสำนักงานบริหารของคณะวิทยาศาสตร์ วันที่ท่านอธิการบดีสวัสดิ์ สกุลไทย์พาผมมาที่ห้องทำงานห้องนี้ ในห้องนั้นไม่มีอะไรเลยนอกจากโต๊ะไม้ที่ใช้แล้วแบบกลางเก่ากลางใหม่สำหรับข้าราชการชั้นโทสมัยนั้นหนึ่งโต๊ะ กับเก้าอี้ไม้ชุดเดียว กับโต๊ะอีกหนึ่งตัว ดินสอ ปากกา และแม้แต่กระดาษบันทึกราชการสักแผ่นก็ไม่มี อย่าว่าแต่พัดลมที่น่าจะมีไว้ช่วยระบายอากาศภายในห้องนั้นเลย ยังดีที่มีไฟฟ้าให้แสงสว่าง และมีเต้าปลั๊กไฟฟ้าว่างเปล่าที่รอการใช้งานอยู่แล้วในห้อง มันเป็นห้องทำงานห้องแรกของผมที่ ม.อ. แทนห้องทำงานระบบปรับอากาศห้องเดิมของผมที่สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม ม.ก.บางเขน และมันก็เป็นห้องทำงานห้องแรกของคณะทรัพยากรธรรมชาติด้วยในขณะที่เพิ่งมีบุคลากรคือตัวผมอยู่เพียงคนเดียวโดดเดี่ยวตามลำพังในระหว่างปี พ.ศ. 2517 ถึงต้นปี พ.ศ. 2518 มันเป็นห้องที่ผมใช้เป็นที่ตั้งสติ....ข่มใจ......ขจัดความรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง แล้วคิดและตัดสินใจอยู่เป็นประจำว่า อะไรเป็นเรื่องสำคัญที่สุดลำดับที่หนึ่งที่ผมจะต้องทำในวันพรุ่งนี้ และอะไรเป็นเรื่องสำคัญอันดับที่สอง ที่สาม และที่สี่ที่ผมจะต้องรีบทำตามลำดับต่อๆไป ถ้าการติดต่อประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆในวันนี้ประสบผลสำเร็จเรียบ ร้อยแล้ว และตอนเย็นหลังเวลาเลิกงานวันนี้ผมควรจะไปเยี่ยมหรือไปทำความรู้จักกับอาจารย์ ม.อ. คนใด คณะใด ที่สโมสร หรือที่บ้านของท่าน หรือควรไปหาศิษย์เก่าเกษตรรุ่นพี่หรือรุ่นน้องคนใด ที่ไหน นอกจากเพื่อนรุ่นเดียวกันซึ่งมีอยู่เพียงคนเดียวที่หาดใหญ่ขณะนั้น และผมก็ไปหาเขาแทบทุกวันอยู่แล้วคือ คุณศรีโบ ไชยประสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการยาง ซึ่งในปีต่อๆมาเขาได้ย้ายเข้าไปดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมวิชาการเกษตรที่เกษตรกลาง บางเขน กทม.
การที่ต้องมาเริ่มงานบุกเบิกก่อตั้งคณะทรัพยากรธรรมชาติตามลำพังตัวคนเดียวในระยะแรกนั้นเป็นภาวะที่ผมรู้สึกหนักใจมาก เพราะความคิดฝันของท่านอธิการบดีศาสตราจารย์ นพ. สวัสดิ์ สกุลไทย์ เกี่ยวกับการก่อตั้งคณะเกษตรแนวใหม่เป็นความคิดที่ท่านคิดไปไกลมากกว่าความที่เป็นจริงในประเทศไทยเราเมื่อสมัยสามสิบกว่าปีก่อน ผนวกกับแนวความคิดของผู้เชี่ยวชาญฝรั่งที่ได้เสนอแนะ เอาไว้ก็เป็นความคิดบนพื้นฐานของประเทศตะวันตกที่มีความเจริญรุ่งเรืองล้ำหน้าประเทศตะวันออก ที่กำลังพัฒนาอย่างไทยเรามากมาย ประเทศของเขามีความเจริญรุ่งเรืองอย่างสุดขีด และมีสภาวะทาง เศรษฐกิจดีมาก เขามีความพร้อมในทุกๆด้านที่เขาเสนอแนะเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาคารสถานที่ เรื่องของวัสดุอุปกรณ์ เรื่องของเงินงบประมาณค่าใช้จ่าย และเรื่องของบุคลากรทุกสาขาระดับต่างๆ เฉพาะอย่างยิ่งระบบบริหารการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งต่างกับสภาพของประเทศเราที่ยังด้อยพัฒนา และขาดแคลนในทุกๆประเด็นที่กล่าวถึง
ข้อเสนอแนะทั้งหมดของคณะผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้น แม้จะเป็นข้อเสนอแนะที่ดีมาก แต่มันก็เป็นข้อเสนอแนะที่สภาพสังคมและเศรษฐกิจของไทยในขณะนั้นยังไม่อำนวยให้ทำตามได้ทั้งหมดอย่างทันทีทันควัน และที่สำคัญอีกอย่างก็คือทางมหาวิทยาลัยยังมิได้จัดเตรียมสิ่งเกื้อหนุนใดๆไว้รอง รับความคิดฝันทั้งของท่านอธิการบดีศาสตราจารย์ นพ. สวัสดิ์ สกุลไทย์ และของคณะผู้เชี่ยวชาญฝรั่งชุดนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานที่ๆจะดำเนินการก่อตั้งคณะเกษตรแนวใหม่ที่ท่านต้องการ ทางมหาวิทยาลัยยังไม่ได้เตรียมจัดหาพื้นที่ไว้ให้เลยแม้แต่สักหนึ่งตารางวา
ผมตระหนักดีว่า ผมไม่ใช่พระอินทร์ผู้มีเวทย์มนต์คาถาที่สามารถเนรมิตเอาอะไรๆมากินมาใช้ก็ได้ตามต้องการภายในพริบตา ในเมื่อทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ยังไม่ได้จัดเตรียมอะไรไว้ให้เลย และผมก็ได้รับปากกับท่านอธิการบดีไปแล้ว ผมจึงต้องรีบตั้งสติและถามตัวเองว่าผมจะไปตั้งต้นงานก่อตั้งคณะทรัพยากรธรรมชาติได้ที่ไหน และอย่างไร การสอนการเรียนทางเกษตร และทางประมงมิใช่ว่าเพียงแค่มีตึกเรียนสักหนึ่งหลัง ปลูกสร้างในพื้นที่สักสองสามไร่ มีห้องเรียน มีกระดานดำ มีชอล์ค มีโต๊ะ มีเก้าอี้ให้นักศึกษานั่ง มีครูมีอาจารย์สักห้าหกคน เพียงแค่นี้ก็เปิดสอนเป็นคณะเกษตรแนวใหม่ได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ๆกว้างใหญ่สำหรับการปลูกข้าว ทำสวนปลูกพืชผัก ผลไม้ ดอกไม้ ไม่ต้องมีที่สำหรับเลี้ยงสัตว์พวก เป็ดไก่ หมู แพะ แกะ วัว ควาย ไม่ต้องมีบ่อสำหรับเลี้ยงกุ้งเลี้ยงปลา ไม่ต้องมีห้องปฏิบัติการประเภทต่างๆ เครื่องมือเครื่องใช้ในการทำไร่ไถนา ทำสวน เล้าเป็ดเล้าไก่ คอกแพะแกะ คอกหมู คอกวัว คอกควาย โรงผสมอาหารสัตว์ เรือนเพาะชำ เรือนกระจก ฯลฯ ก็ไม่จำเป็นต้องมี อยากอธิบายให้นักศึกษาเข้าใจในเรื่องอะไร ก็เขียนลงไปบนกระดานดำหรือหารูปมาให้ดู การลงมือทำด้วยตัวนักศึกษาเองก็ไม่จำเป็นจะต้องฝึกฝนอย่างจริงจังก็ได้ เอาเพียงแค่จัดให้มีกิจกรรมการสอนการเรียนอย่างฉาบฉวย ไปหยิบโน่น แตะนี่ ในนาในไร่ แบบการทำฟาร์มในวัน หยุดสุดสัปดาห์( Weekend Farming )ของพวกเศรษฐีในเมืองก็พอแล้ว... กระนั้นหรือ
สรุปแล้วก็คือ ถ้าผมจะต้องรับผิดชอบในงานบุกเบิกก่อตั้งคณะเกษตรแนวใหม่ที่ท่านให้ชื่อไว้แล้วว่าคณะทรัพยากรธรรมชาติ ผมจะต้องตั้งต้นที่เลขศูนย์ คือต้องเริ่มต้นจากการไม่มีอะไรเลย นอกจากความคิดฝันของท่านอธิการบดีศาสตราจารย์ นพ. สวัสดิ์ สกุลไทย์ และข้อความในเอกสารราย งานของคณะผู้เชี่ยวชาญฝรั่งที่เสนอแนะเอาไว้
ผมพยายามแยกแยะประเด็นสำคัญที่กำลังเผชิญหน้าผมอยู่ในขณะนั้น และก็ได้พบว่าประเด็นด่วนที่สุดที่จะต้องรีบจัดหามาให้ได้เสียก่อน ก็คือเรื่องของสถานที่ที่จะก่อตั้งคณะทั้งตัวอาคารสำนักงาน อาคารเรียน อาคารปฏิบัติการ และพื้นที่อันกว้างใหญ่พอสมควรสำหรับการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ซึ่งจะต้องกว้างมากกว่าพื้นที่ของคณะอื่นๆหลายเท่า เพราะลักษณะงานเกษตร งานประมง ของเราเป็นงานที่จะต้องทำกับผืนแผ่นดิน และกับแหล่งน้ำในลักษณะเรือกสวนไร่นา ฟาร์มปศุสัตว์ บ่อเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำที่เราจะต้องสร้างต้องขุดต้องก่อมันขึ้นมา ตลอดจนแหล่งน้ำที่มีอยู่ตามธรรมชาติเช่นห้วยหนองคลองบึง และท้องทะเล ฯลฯ ที่เราจะต้องเลือกหาแหล่งที่เหมาะสมเพื่อการสอนการเรียนและการศึกษาวิจัยกันต่อไปด้วย
ประเด็นต่อมาก็คือเรื่องของบุคลากรสาขาต่างๆทุกระดับ ที่จะต้องรีบแสวงหามาให้ได้โดย เร็วที่สุด และจะต้องมีจำนวนเริ่มต้นที่มากพอที่แต่ละสายงานจะสามารถช่วยกันบุกเบิกช่วยกันพัฒนางานในสายของตัวเองได้ด้วย คิดถึงประเด็นนี้แล้ว ผมบอกตัวเองได้ทันทีว่าผมจะต้องอดทน และใจเย็นให้มากขึ้นอีกหลายเท่าตัว เพราะนอกจากจะยังมองไม่เห็นทางลัดที่จะไประดมเอานักวิชาการจากที่ใดมาเป็นอาจารย์สอนตามแนวคิด คณะเกษตรแนวใหม่ ได้แล้ว ทางตรงที่จะไปให้ถึงเป้าหมายนี้ก็ยังมองไม่เห็นอีกด้วย จะมีก็แต่ทางอ้อมเท่านั้นที่ผมจำเป็นจะต้องยอมอุทิศเวลาให้ นั่นก็คือการต้องสร้างคนของเราขึ้นมาเอง โดยจัดหาทุนเรียนต่อต่างประเทศให้แก่บรรดาอาจารย์ของเราเองหลายๆคน ให้เขาได้ไปเรียนในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่จำเป็นจะต้องบรรจุไว้ในหลักสูตรของคณะเกษตรแนวใหม่นี้ให้จงได้
อีกประเด็นหนึ่งที่ผมหนักใจไม่น้อยไปกว่าสองประเด็นสำคัญที่กล่าวถึงก็คือ เรื่องของเงินงบประมาณค่าใช้จ่ายประเภทต่างๆเพื่อการดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วง เรื่องเงินงบประมาณค่าใช้ จ่ายนี้ ทุกหน่วยงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคต่างก็รู้มาเต็มอกอยู่แล้วว่าความฝืดเคืองเงินงบประมาณค่าใช้จ่ายในการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศเรา เป็นเรื่องที่กดดันมิให้เกิดการขยายตัวของแต่ละหน่วยงานได้อย่างรวดเร็วทันความต้องการ ทางออกที่แต่ละหน่วยงานพยายามแสวงหาก็คือความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่ใหญ่กว่า หรือจากองค์กรการกุศลทั้งภายในและภาย นอกประเทศในรูปแบบโครงการให้ความสนับสนุนทางการเงินแบบให้เปล่าทั้ง 100 % กับแบบให้ความร่วมมือช่วยเหลือเพียงครึ่งเดียวหรือมากกว่า(Counter-part Fund) ซึ่งมักตั้งชื่อให้ไพเราะว่าเป็นโครงการให้ความช่วยเหลือร่วมมือทางวิชาการอย่างเช่นที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐ Oregon,U.S.A. เคยมาให้ความช่วยเหลือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เมื่อประมาณ 50 ปีก่อน และอีกแบบหนึ่งก็คือการกู้เงินจากธนาคารโลก( World Bank ) หรือจากธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศในภาคพื้นเอเชีย( Asian Development Bank )ซึ่งต้องทำในนามรัฐบาลสำหรับโครงการที่ใหญ่มากๆ
ส่วนโครงการที่ไม่ใหญ่มากนักเช่นงานระดับคณะนั้น เราอาจขวนขวาย วิ่งเต้น หาแหล่งที่สามารถสนับสนุนการขอความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ในลักษณะโครงการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการได้บ้างเหมือนกัน โดยเราจะต้องพยายาม เข้าให้ถึง ใจกลางของหน่วยงานเบื้อง ต้นของประเทศที่มุ่งหวังนั้นให้ได้เสียก่อน ถ้าทำได้สำเร็จในขั้นต้นนี้แล้ว การดำเนินงานในขั้นตอนต่อไปก็เป็นเรื่องที่ง่ายมากขึ้น คือจากทางสถานเอกอัครราชทูตของประเทศนั้นๆไปจนถึงรัฐบาลของเขา และดำเนินการต่อไปอีกจนถึงกรมวิเทศสัมพันธ์ของไทยเราเองซึ่งมี นโยบายคอยสนับสนุนอยู่แล้ว เมื่อเรื่องมาถึงสำนักงบประมาณของฝ่ายรัฐบาลไทยโอกาสที่จะได้รับการจัดสรร งบประมาณประจำปี เพื่อเข้าร่วมสมทบกันแบบครึ่งต่อครึ่งกับงบประมาณของฝ่ายต่างประเทศผู้ให้ความช่วยเหลือก็มีค่อนข้างจะมาก และครบถ้วนตามข้อตกลงของหน่วยงานระดับบน
เรื่องต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่ผมจะต้องแก้ให้ได้สำเร็จตรงจุด และผมจะตัดสินใจเลือกเอาประเด็นใดมาจัดการเสียก่อน ก็เป็นเรื่องที่ผมคิดในครั้งนั้นว่า จะต้องขอไปฟังความคิดเห็นของท่านอธิการบดี ศาสตราจารย์ นพ.สวัสดิ์ สกุลไทย์ เพิ่มเติมอีกครั้ง เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการก่อตั้งคณะทรัพยากรธรรมชาติ
สารบัญ "ประวัติการบุกเบิกก่อตั้งคณะทรัพยากรธรรมชาติ" ที่ได้บันทึกมาแล้ว
ตอน 1
ตอน 2
ตอน 3
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « แนวคิดก่อตั้ง “คณะเกษตรแนวใหม่” ...
- ใหม่กว่า » คำมั่นของท่านอธิการบดี (ตอน 4)
24 ตุลาคม 2551 15:37
#37251