ความเห็น: 4
การพัฒนางานประจำ (3)
คราวนี้ถึงตาของคนคณะวิทยาศาสตร์บ้าง หลังจากเขียนเรื่องของแขกรับเชิญจากคณะอื่นไป 2 บันทึก คือเรื่องของ คุณวนิดา บูรณะ และคุณอับดลอาซีด หนิมุสา ตามประสาเจ้าบ้านที่ดี ในกิจกรรม “เวทีสร้างสรรค์ มุ่งมั่นนวัตกรรม” มีโครงการของบุคลากรคณะวิทยาศาสตร์ส่งเข้าประกวด 7 โครงการ ที่ล้วนเป็นโครงการทรงคุณค่า ที่สำคัญคือมีแม่ยกตามมาเชียร์กันเต็มห้อง ทำเอากรรมการเหงื่อตก ไม่รู้ว่าจะให้รางวัลแก่โครงการไหนดี รักพี่ เสียดายน้อง แต่ไม่เกรงใจแม่ยกนะ ดูบรรยากาศของงานและรางวัลได้ที่นี่นะคะ
สำหรับรายละเอียดของแต่ละโครงการเดี๋ยวจะกลับมาใส่ link ให้นะคะ
เริ่มด้วยโครงการ “ระบบทะเบียนรับและส่งเอกสารของงานคลังและพัสดุ”ของคุณปาลิตา สิกะพันธ์ ที่ใช้โปรแกรม excel ในการเก็บข้อมูลเอกสารรับ-ส่ง ซึ่งมีอยู่มากมายในแต่ละวัน จัดเป็นหมวดหมู่อย่างดี หาได้ง่ายและรู้ว่าขั้นตอนของเอกสารแต่ละชิ้นไปถึงขั้นไหนแล้ว ที่ภาควิชาส่งมาได้รับหรือยัง อนุมัติหรือยัง ส่งคืนหรือยัง ฯลฯ โดยเฉพาะเรื่องเงินๆ ทองๆ ของบาดใจ เวลาขอเบิกไปแล้วใครๆ ก็อยากรู้ว่าได้เมื่อไหร่ ใช่ไหมคะ หรือถ้าเกิดหายไปละก้อ เรื่องใหญ่แน่นอน
ถ้าให้ดูที่มาที่ไปสาเหตุของนวัตกรรมนี้น่าจะเกิดเนื่องจากความเป็นคนขี้รำคาญแน่เลย (ล้อเล่นนะคะ คุณปาลิตา เป็นเจ้าหน้าที่ที่น่ารักมากค่ะ ยิ้มได้ตลอดเวลา) ทราบว่าเมื่อก่อนที่จะทำโครงการนี้ คุณปาลิตาต้องใช้เวลามากมายในการตอบคำถามของเอกสารแต่ละเรื่องว่าดำเนินการไปถึงไหนแล้ว จำได้บ้าง จำไม่ได้บ้าง หลังจากไปอบรมคอมพิวเตอร์ ก็เลยเกิดความคิดที่จะนำเอาความรู้มาใช้พัฒนางานประจำของตัวเอง ซึ่งได้ผลดีมาก ขณะนี้สามารถรู้ความเป็นไปของเอกสารทุกชิ้นในงานของตนเองภายในเวลาชั่วพริบตา 2 ครั้ง (ครั้งเดียวไม่ทันเพราะกระพริบตาครั้งแรกต้องกรองข้อมูลก่อน)
เรามาเป็นคนขี้รำคาญกันไหม แต่ขี้รำคาญแล้วก็คิดแก้ปัญหานะ จัดการทุกอย่างให้เป็นระบบ ก็คงไม่ต้องรำคาญกันต่อไป อย่ารำคาญแล้วบ่น ไม่มีประโยชน์ค่ะ
โปรแกรม “แบบรายงานแผน/ผลการปฏิบัติการจัดซื้อ” ของคุณกาญจนา สิงห์โต ก็น่าสนใจ เป็นการต่อยอดจากนวัตกรรมที่มีอยู่เดิม อันนี้เป็นการแสดงถึงความไม่หยุดนิ่งของการพัฒนางานประจำ ต้องขอชื่นชมจริงๆ ถือเป็นแบบอย่างที่ดีค่ะ
หลายๆ ครั้งที่เมื่อมีการพัฒนาอะไรขึ้นมาแล้ว ก็มักจะจบอยู่ตรงนั้น เรียกว่าพอใจในความสำเร็จแล้ว อย่างนี้ถ้าให้ชื่นชม ก็ชมครั้งเดียวจบค่ะ แต่ถ้ามีการต่อยอดไปเรื่อยๆ ก็ปรบมือให้ทุกวันค่ะ
อยากให้ลองมองไปรอบๆ ตัวเราซิค่ะว่าเรายังจะสามารถต่อเติมของที่มีอยู่แล้วให้ดีกว่าเดิมได้อย่างไร เหมือนการสร้างบ้านแบบต่อเติมได้เรื่อยๆ พื้นที่ไม่มีวันหมด กระต๊อบเล็กๆ ที่เรามีสักวันก็คงกลายเป็นคฤหาสน์หรูหราได้ด้วยมือเราค่ะ ท่านที่ยังไม่มีแม้แต่กระต๊อบก็คงต้องเริ่มสร้างแล้วนะคะ
โปรแกรม “การรับ-ส่ง จดหมาย/ไปรษณียภัณฑ์” ของคุณไพบูลย์ เตียวจำเริญ/คุณสมศักดิ์ วิภาพรรณ ก็น่าทึ่งในความคิดริเริ่ม และการพัฒนางาน คู่นี้เป็นบุคลากรดีเด่นของคณะวิทยาศาสตร์ในปีนี้ ทำงานอยู่หน่วยสารบรรณค่ะ ประเภทว่างานอะไรที่ไม่รู้จะให้ใครทำก็ไปบอกคุณไพบูลย์ เตียวจำเริญ/คุณสมศักดิ์ วิภาพรรณ ได้ค่ะ
โปรแกรมนี้มีประโยชน์ตรงที่เมื่อมีจดหมายด่วนหรือไปรษณียภัณฑ์มาถึงบุคลากรในคณะ ทุกท่านจะสามารถทราบได้ทันทีโดยไม่ต้องลุกจากโต๊ะทำงาน (แจ้งทาง e-mail) หรืออยากตรวจสอบว่ามีจดหมาย (ทวงหนี้??? ลงทะเบียน) มาถึงท่านหรือไม่ ก็สามารถทำได้ด้วยตนเอง แล้วจะมี delivery ถึงที่ทำงานในระยะเวลาอันสั้น
นวัตกรรมชิ้นนี้เป็นตัวอย่างของคนชอบบริการ ที่ทำได้ไม่ต่างจากบริษัทเอกชนค่ะ มีการคิดถึงความรวดเร็วในการส่งข่าวสาร ความสะดวกสบายของบุคลากรในองค์กรทุกท่าน เสียอย่างเดียวถ้าโปรแกรมนี้ใช้เต็มรูปแบบเมื่อไหร่ คุณไพบูลย์ เตียวจำเริญ/คุณสมศักดิ์ วิภาพรรณ คงจะเหงาปากแย่ ไม่มีใครโทรมาหาอีกเลย แล้วจะได้คุยกับใครไหมนี่
เรื่องนวัตกรรมยังไม่จบ คณะวิทยาศาสตร์ยังมีอะไรดีๆ อีกเยอะนะคะ โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « การพัฒนางานประจำ (2)
- ใหม่กว่า » การพัฒนางานประจำ (4)
ความเห็น
ได้มีโอกาสเข้าร่วมฟังการแสดงการเสนอผลงานนวัตกรรม
แต่...ก็ยังไม่ค่อยเข้าใจถึง คำว่านวัตกรรมค่ะ
เพราะถ้าคิดถึง ผลงานของคุณปาลิตา หนูก้อคิดว่าทางสาขา ICT ได้จัดทำในลักษณะดังกล่าวด้วย ซึ่งได้เสนองานตอนเค้ามาตรวจ 5 ส ที่สำนักงานสาขา ICT ค่ะ ก็เลยคิดไม่ถึงว่ามันเป็นนวัตกรรม แต่ของหนู มีให้ link ไฟล์ข้อมูลที่พิมพ์ และชื่อแฟ้มเอกสารที่เก็บด้วยค่ะ
ขอบคุณค่ะ
พัฐสุดา เอกพันธ์
เจ้าหน้าที่ สาขา ICT
ตอบคุณมยุรี
ก็คิดว่าจะทำให้ได้อย่างที่คุณมยุรีเสนอแนะค่ะ
ตอบคุณพัฐสุดาค่ะ
จำไว้ง่ายๆ ว่า นวัตกรรมคือทำอะไรก็ได้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วได้กำไรเพิ่มขึ้น คำว่ากำไร ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินเสมอค่ะ อาจเป็นกำไรเวลา (ใช้เวลาลดลง) กำไรชีวิต (มีความสุข) หรือประหยัดขึ้น
สำหรับกรณีของคุณปาลิตา ถ้าคนอยู่ทางสาขา ICT จะดูว่าเป็นโปรแกรมที่ไม่มีอะไร แต่สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือความความคิดริเริ่ม ความมุมานะในการทำงานจนสำเร็จ และความสนใจในการแก้ปัญหาและพัฒนางานของตนเองค่ะ
คุณพัฐสุดาในฐานะที่เก่งทางคอมพิวเตอร์มีอะไรดีๆ มาช่วยกันแลกเปลี่ยนในเวทีนี้http://share.psu.ac.th/blog/cop/6581 ด้วยนะคะ
อ่านจากที่น้องพัฐให้ความเห็นแล้ว คิดว่า ถ้า (ใครสักคน) จัดรวมกลุ่มคนที่ทำงานแบบเดียวกับพี่จิน (คุณปาลิตา) มาพูดคุยกัน เราอาจจะได้นวัตกรรมใหม่ ๆ หรือได้แลกเปลี่ยน แชร์โปรแกรมใช้งานร่วมกันก็ได้นะคะ วันหนึ่งเราก็อาจมีระบบหรือโปรแกรมพื้นฐานสำหรับการจัดการงานเอกสาร ให้ทุกภาควิชา/หน่วยงานได้ใช้ด้วยกันอีกต่างหากค่ะ ^0^
02 พฤษภาคม 2551 15:09
#28565
เป็นไปได้ไม๊ที่งานของคุณปาลิตาและคุณกาญจนาสามารถให้ระดับภาควิชาเข้าไปดูได้ด้วย เช่นเดียวกับงานของคุณไพบูลย์ คิดว่าน่าจะช่วยให้หมดความรำคาญไปเลยเชียวค่ะ