ความเห็น: 0
มอก. 2677-2558:ระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี
เมื่อวันพุธ 23-11-2559 ได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช) ร่วมกับสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ เกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี (มอก. 2677-2558)” ณ โรงแรมเอเชีย กรุงเทพมหานคร สำหรับผู้เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งมีทั้งบุคลากรจากภาครัฐและเอกชน
แอบดีใจที่ปัจจุบันมีความตื่นตัวเรื่องของความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีมากขึ้น โดยมีการประกาศว่าจะมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ และทางสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช) ก็สนับสนุนโครงการจัดการด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี จะเริ่มบังคับใช้ใน พ.ศ. 2560
ทำให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องหันมาตื่นตัว สนใจเรื่องความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการมากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีความพยายามที่จะพัฒนาห้องปฏิบัติการให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานตาม พ.ร.บ. ความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ ถ้าดูแค่ชื่อเรื่องก็ต้องบอกว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับเจ้าของบันทึกโดยตรง รวมทั้งทุกคนที่ต้องทำงานเกี่ยวกับสารเคมี
ถ้าอย่างนั้นเรามาเริ่มทำความรู้จักกับมอก. 2677-2558 กันคร่าวๆนะคะ ส่วนถ้าใครต้องการรู้ต้องการรู้ลึกรู้ซึ้งกับ มอก. ดังกล่าวสามารถอ่านได้ตามลิงค์ด้านล่างนะคะ สำหรับบันทึกนี้เอาแบบสรุปย่อค่ะ
1. ระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี เล่ม 1: ว่าด้วยเรื่องข้อกำหนด มาตรฐานเลขที่ มอก. 2677 เล่ม 1-2558 http://labsafety.nrct.go.th/index.php/2014-05-19-04-40-01/docman/-1/29-2015-10-19-03-48-42/file
2. ระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี เล่ม 2: ว่าด้วยเรื่องข้อแนะนำทั่วไปเกี่ยวกับหลักการ ระบบ และเทคนิคในการปฏิบัติข้อกำหนด มาตรฐานเลขที่ มอก. 2677 เล่ม 2-2558 http://labsafety.nrct.go.th/index.php/2014-05-19-04-40-01/docman/-1/30-2015-10-19-03-51-01/file
ระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวกับสารเคมี โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้นําไปใช้พัฒนาระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ แต่มาตรฐานฉบับนี้ไม่คลอบคลุมข้อปฏิบัติเกี่ยวกับสารกัมมันตรับงสีและวัตถุชีวภาพ
สำหรับบันทึกนี้เรามาเริ่มกันที่ข้อกำหนด ระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติซึ่งอยู่ในข้อ 3 ของข้อกำหนด
3. ข้อแนะนําในการจัดทําระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ
3.1 นโยบายความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ องค์กรต้องกําหนดนโยบายความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการให้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายองค์กร ซึ่งนโยบายจะต้องกล่าวถึงวัตถุประสงค์ แผนงาน และความมุ่งมั่นขององค์กรในการดําเนินงานด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการ และต้องเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานมีส่วนร่วมในการกําหนดนโยบายและการจัดการด้านความปลอดภัย
3.1.1 การบริหารจัดการด้านความปลอดภัยมีการแบ่งออกเป็น 7 องค์ประกอบคือ
(1) โครงสร้าง หน้าที่ ความรับผิดชอบ
(2) การจัดการสารเคมี
(3) การจัดการของเสีย
(4) ลักษณะทางกายภาพของห้องปฏิบัติการ
(5) การเตรียมความพร้อม และตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน
(6) การให้ความรู้ และการสร้างจิตสํานึก
(7) การจัดการเอกสาร
3.2 การวางแผน
3.2.1การบริหารความเสี่ยง
ให้วางแผนการดําเนินงานเพื่อลดความเสี่ยงโดยมีมาตรการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติงาน โดยการบริหารความเสี่ยงและดําเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อกําหนดอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
(1) การประเมินความเสี่ยง
(2) การจัดการความเสี่ยง
(3) การทบทวนความเสี่ยง
3.3 การนําไปใช้และการปฏิบัติ
3.3.1 โครงสร้าง หน้าที่ ความรับผิดชอบ
องค์กรต้องกําหนดโครงสร้าง อํานาจ หน้าที่ความรับผิดชอบด้านความปลอดภัยพร้อมทั้งแต่งตั้งผู้รับผิดชอบตามโครงสร้าง อย่างน้อย 2 ระดับ ดังนี้ (1) ฝ่ายบริหารจัดการด้านความปลอดภัยขององค์กร
(2) เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยประจําห้องปฏิบัติการ
3.3.2 การจัดการสารเคมี
ต้องกําหนดให้มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีในด้านต่างๆ ดังนี้
(1) การจัดการข้อมูลสารเคมี รวมถึงสารบบสารเคมี
(2) เอกสารข้อมูลด้านความปลอดภัย
(3) การจัดเก็บสารเคมี
(4) การใช้และเคลื่อนย้ายสารเคมี
3.3.3 การจัดการของเสีย
3.3.4 ลักษณะทางกายภาพของห้องปฏิบัติการ
(1) งานสถาปัตยกรรม
(2) งานสถาปัตยกรรมภายใน: ครุภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือและอุปกรณ์
(3) งานวิศวกรรมระบบโครงสร้าง
(4) งานวิศวกรรมระบบไฟฟ้ากําลังและไฟฟ้าแสงสว่าง
(5) งานวิศวกรรมระบบสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อม
(6) งานวิศวกรรมระบบระบายอากาศและปรับอากาศ
(7) งานระบบฉุกเฉินและระบบติดต่อสื่อสาร
3.3.5 การเตรียมความพร้อม และตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน
3.3.6 การให้ความรู้และการสร้างจิตสํานึก
3.3.7 การจัดการเอกสาร
ต้องจัดการเอกสารที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ต้องจัดทําบันทึกเพื่อเป็นหลักฐานที่แสดงถึงการปฏิบัติที่เป็นไปตามข้อกําหนด
3.4 การติดตามตรวจสอบและการประเมินผลการปฏิบัติ
ต้องติดตามตรวจสอบการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องและมีการประเมินผลการปฏิบัติอย่างน้อยปีละครั้ง โดยครอบคลุมห้องปฏิบัติการทั้ง 7 องค์ประกอบ
สิ่งที่น่าสนใจต้องมีการตรวจสุขภาพของผูู้ปฏิบัติงานและตรวจวัดสภาพแวดล้อมในการทํางานตามความเสี่ยงอย่างน้อยปีละครั้ง ทั้งนี้ ต้องบันทึกการติดตามตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติ เพื่อนําไปใช้ประกอบการพิจารณาทบทวนการจัดการต่อไป
3.5การทบทวนการจัดการ
ผูู้บริหารระดับสูงขององค์กรต้องแสดงเจตนาให้พัฒนาปรับปรุงระบบการจัดการด้านความปลอดภัยของห้องปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง
เอกสารอ้างอิง
1. มาตรฐานเลขที่ มอก. 2677 เล่ม 1-2558 http://labsafety.nrct.go.th/index.php/2014-05-19-04-40-01/docman/-1/29-2015-10-19-03-48-42/file
2. มาตรฐานเลขที่ มอก. 2677 เล่ม 2-2558 http://labsafety.nrct.go.th/index.php/2014-05-19-04-40-01/docman/-1/30-2015-10-19-03-51-01/file
.........................................................................................................
ความเห็นส่วนตัวคิดว่า ถ้าพูดถึงเรื่องการทำระบบถือว่าเราก็คุ้นเคยกับระบบมาตรฐาน เรื่องระบบเรามีอยู่แล้วเราทำระบบมาตรฐานต่างๆมากมายเช่น
- ISO 9000 ระบบบริหารคุณภาพ
- ISO/IEC 17025 มาตรฐานสากลซึ่งเป็นการประเมินความสามารถทางวิชาการของห้องปฏิบัติการ
- ISO 14000 มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม
เพราะถ้าเราไม่ทำระบบมาตรฐานเราอาจถูกกีดกันทางการค้า ตัวอย่างใกล้ๆตัวที่เห็นได้บ่อยคือ ลูกค้าต้องการห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO/IEC 17025 ถ้าห้องปฏิบัติการทดสอบหรือสอบเทียบใดไม่ได้รับการรับรองบางครั้งลูกค้าก็ไม่เลือกใช้บริการ
(ขอแชร์ประสบการณ์ที่เคยเข้าเรียนในภาควิชาเคมีของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง หลักสูตร Safety เป็นหลักสูตรบังคับที่ทุกคนต้องเรียนและทางภาควิชาสอนในวัน Induction day ถือว่าเป็นสร้างจิตสำนึกให้ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องความปลอดภัยเกี่ยวกับสารเคมี นักศึกษาทุกระดับชั้นไม่ว่าจะ ป.ตรี ป.โท ป.เอก ในภาควิชาเคมีต้องเรียน และจะต้องเรียนให้ครบตามที่เค้ากำหนด ถ้าเรียนไม่หลักสูตร Safety ไม่ครบจำนวนหน่วยกิจที่กำหนด ถือว่าไม่จบหลักสูตร นอกจากนั้นบุคลากรที่ทำงานที่ภาควิชาเคมีต้องได้รับการฝึกอบรมหลักสูตรดังกล่าวด้วย
ดังนั้นมอก. 2677-2558 ฉบับนี้เน้นและให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ปฏิบัติงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี เพราะว่าความปลอดภัยในการทำงานห้องปฏิบัติการเป็นเรื่องสำคัญ เราจะต้องตระหนักและให้ความสำคัญถึงเรื่องความปลอดภัยเป็นสิ่งแรกๆเพราะทรัพยากรมนุษย์เป็นทรัพยากรที่มีค่า
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « การตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีวัดทา...
- ใหม่กว่า » Tandem Mass Spectrometry
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้