ความเห็น: 0
การสะกดคำ
หนังสือของทางราชการเป็นหนังสือที่เป็นทางการ ดังนั้นการสะกดคำให้ถูกต้องจึงเป็นเรื่องสำคัญเบื้องต้นที่จะต้องระมัดระวังอย่าให้เกิดความผิดพลาดได้ เพราะจะทำลายศรัทธาของผู้รับ การสะกดคำผิดพลาดซึ่งไม่ได้เกิดจากการพิมพ์ผิดมี 2 ประการสำคัญ ได้แก่
1. สะกดผิด การสะกดคำผิดที่มักพบบ่อย ได้แก่ ใช้พยัญชนะผิด ใช้สระผิด ใช้วรรณยุกต์ผิด ใช้ตัวการันต์ผิด เช่น
1.1 ใช้พยัญชนะผิด เช่น ประสพการณ์ที่ถูกคือประสบการณ์ ลาดตระเวณที่ถูกคือลาดตระเวน เป็นต้น
1.2 ใช้สระผิด เช่น สังเกตุที่ถูกคือสังเกต ภาระกิจที่ถูกคือภารกิจ เป็นต้น
1.3 ใช้วรรณยุกต์ผิด เช่น โน๊ตที่ถูกคือโน้ต ช๊อคที่ถูกคือช็อค เป็นต้น
1.4 ใช้ตัวการันต์ผิด เช่น นัยตาที่ถูกคือนัยน์ตา สร้างสรรที่ถูกคือสร้างสรรค์ เป็นต้น
2. สะกดลักลั่นในข้อเขียนฉบับเดียวกัน คำบางคำเขียนได้หลายอย่าง และยอมรับใช้กันทั่วไปว่าถูกต้อง เช่นคำ ปกติ และปรกติ สมมุติ และ สมมติ คำที่สะกดได้ทั้ง 2 แบบเช่นนี้เมื่อเขียนในหนังสือฉบับเดียวกันควรเลือกใช้แบบใดแบบหนึ่งเพียงแบบเดียว ไม่ควรใช้ทั้งสองแบบในหนังสือฉบับเดียวกัน เพราะจะเกิดความลักลั่น และทำให้ผู้รับสงสัยว่าการสะกดคำที่แตกต่างกันนั้นผู้ส่งสารมีจุดประสงค์ใดหรือมีความหมายใดเป็นพิเศษหรือไม่
การสะกดคำผิดพลาดเกิดจากผู้เขียนไม่สังเกตและไม่เอาใจใส่ในการเขียน คำในภาษาไทยที่ออกเสียงเหมือนกันแต่สะกดต่างกันนั้นมีอยู่มาก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการสะกดคำ ผู้เขียนจึงควรจดจำและสังเกตคำที่มักสะกดผิด ว่าสะกดอย่างไรจึงจะถูกต้องถ้าไม่แน่ใจคำใดควรยึดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 เป็นบรรทัดฐาน บางครั้งการสะกดผิดอาจเกิดจากการพูดผิดจนกลายเป็นความเคยชิน ดังนั้นจึงควรพูดให้ถูกต้องโดยเฉพาะตัว ร ล ตัวควบกล้ำ จะช่วยการสะกดคำอีกทางหนึ่ง
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « e-document โฉมใหม่มาแล้วจ้า
- ใหม่กว่า » เล่าเรื่องทัศนศึกษา 4 จอบ (ตอนที...
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้