ความเห็น: 3
วิทยุ ม.อ. ทำไมจึงต้องเป็น 88 MHz?
วิทยุ ม.อ. ทำไมจึงต้องเป็น 88 MHz?
ผมเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อเล่าเรื่องเก่าให้ฟังกันในกลุ่ม Line ของศิษย์เก่า ม.อ. และเห็นว่าน่าจะเอามาบันทึกไว้ในนี้กันด้วย เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ม.อ. ของเรา ยาวสักหน่อยนะครับ
เรื่องนี้เล่าจากความจำของหนุ่ม(เหลือ)น้อยเพียงอย่างเดียว เพราะเหตุเกิดนานมากแล้วและไม่ได้มีการจดบันทึกไว้ รายละเอียดจึงอาจจะคลาดเคลื่อนได้บ้าง แต่มีคนเขาว่าคนแก่มักจะจำเรื่องเก่าๆ ได้ดี จึงอยากจะรับประกันว่าไม่น่าจะผิดพลาดไปมากสักเท่าไหร่ J
เมื่อปี 2516 ผมจบจาก ม.อ. หมาดๆ (ที่ไม่ถึงกับเปียกโชก) และได้เข้าทำงานเป็นอาจารย์ ม.อ. เลยทันที ท่าน อ. อภินันท์ พงศ์สุพัฒน์ ซึ่งตอนนั้นเป็นผู้ทำหน้าที่จัดซื้อครุภัณฑ์ของภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ได้ให้ผมช่วยงานนี้ของอาจารย์ ด้วยเห็นว่าผมพอจะมีทักษะในการสื่อสารภาษาอังกฤษพอใช้ได้อยู่ ด้วยว่าสมัยโน้นเรามักสั่งซื้ออุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอนจากต่างประเทศจากผู้ผลิตโดยตรง ต้องเขียนจดหมายติดต่อขอ quotation เอง (จดหมายสมัยนั้นเขาส่งกันทาง air mail ไม่ใช่ e-mail นะครับ ส่งไปทีกว่าจะได้คำตอบเป็นเดือนครับ) และเปิด L/C (letter of credit) กับธนาคารเอง จนกระทั่งส่งเอกสารให้ ร.ส.พ. (รัฐวิสาหกิจที่ใครเกิดทันหรือรู้จักก็แปลว่าคนนั้นน่าจะแก่แล้วครับ) ทำเรื่องพิธีการทางศุลกากรเพื่อออกของจากท่าเรือและส่งของมาจนถึง ม.อ.
เฮ้ย...! เขียนมาตั้งยาวแล้ว ทำไมมันยังไม่เข้าเรื่องสักทีวะ หลายคนมีเริ่มแอบบ่น... 555
ผู้บริหาร ม.อ. สมัยนั้น ได้ออกแบบอาคารคณะวิศวฯ ให้มีหอวิทยุอยู่ในภาคฯ ไฟฟ้า ด้วยมีเจตนาให้มีการติดตั้งเครื่องส่งวิทยุเพื่อใช้ในการเรียนการสอนในสาขาวิศวกรรมสื่อสาร เมื่อผมเข้ามาทำงานใน ปี 2516 ภาคฯ ได้จัดตั้ง งปม. เพื่อจัดซื้อเครื่องส่งและเสาอากาศไว้แล้ว ซึ่งเสียดายที่คนแก่จำตัวเลขวงเงิน งปม. ไม่ได้ (แต่ละรายการคงเป็นเงินแสนนะ) ท่าน อ. อภินันท์ ซึ่งเป็นผู้สนใจเรื่องนี้ (และน่าจะเป็นผู้ผลักดันในการจัดตั้ง งปม.) ได้ติดต่อบริษัทและคัดเลือกอุปกรณ์ไว้แล้ว ได้แก่ เครื่องส่งวิทยุ FM ยี่ห้อ Wilkinson ขนาด 1 kW และเสาอากาศยี่ห้อ Jampro จากสหรัฐฯ (เห็นไม๊ละว่าความจำคนแก่ในเรื่องเก่าๆ นี่ มันดีขนาดถึงกับจำยี่ห้อได้เชียวนะครับ แต่ถ้าถึงกับจำรุ่น Model ได้มันก็จะเกินไปนะ)
แต่การจะมีเครื่องส่งวิทยุไว้ในครอบครองหรือออกกาศได้ มันต้องได้รับอนุญาตจากกรมไปรษณีย์โทรเลขก่อน (ครับ ‘กรมไปรษณีย์โทรเลข’ เขียนไม่ผิดครับ ข้าราชการในกรมนี้ต่อมาก็ถูกหวยไปตามๆ กัน เพราะเงินเดือนเพิ่มขึ้นมากมาย เมื่อโอนมาอยู่กับหน่วยงานใหม่ที่ชื่อ กสทช.) ภาควิชาฯ ก็โดย อ.อภินันท์ แหละครับ จึงต้องทำเรื่องผ่านมหาวิทยาลัยถึงกรมไปรษณีย์โทรเลข เพื่อขออนุญาต และขออนุมัติคลื่นความถี่ไว้ใช้งาน ไม่ให้ความถี่ของเราไปเกะกะปะปนกับของชาวบ้าน ซึ่งก็ได้รับอนุมัติมาในเวลาอันสมควร จากนั้นภาควิชาฯ จึงออกจดหมายสั่งซื้อหรือ P.O. ไปยังผู้ผลิตแต่ละรายในสหรัฐฯ และสั่งเปิด L/C กับธนาคาร
[ขอออกนอกประเด็นเฉียด ๆ อีกสักนิด (มึงจะเยิ่นเย้อไปถึงไหนฟระ... มีเสียงบ่นแว่ว ๆ มาอีกแล้ว!) เหตุการณ์ทั้งหมดที่กำลังเล่ามานี้ น่าจะเกิดต่อเนื่องกันระหว่างปี พ.ศ. 2516-2518 เพราะท่าน อ. อภินันท์ ต้องไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษในราวปี 2517 ผมก็เลยต้องรับงานนี้ต่อคนเดียวมาจนกระทั่งผมไปเรียนต่อที่สหรัฐฯ ปีกลางปี 2518 และช่วงที่อุปกรณ์ทั้งสองนี้มาถึงหาดใหญ่ จนมีการติดตั้ง ผมก็ไม่อยู่เสียแล้ว แต่ทราบว่า อ. อภินันท์ได้กลับมาจากเรียนต่อและมาดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ทั้งสองนี้ด้วยตนเอง การยกเสาอากาศที่เป็น tower ซึ่งมีความสูงไม่น้อย ขึ้นติดตั้งบนหลังคาหอคอยวิทยุ ไม่ได้เป็นเรื่องง่ายเลยนะครับ]
ในการออกจดหมายสั่งซื้อเครื่องส่งและเสาอากาศจำเป็นต้องระบุความถี่ตามที่ได้รับอนุมัติจากกรมไปรษณีย์โทรเลขไปด้วย เมื่อออกจดหมายสั่งซื้อไปแล้วเราก็นั่งตีขิมรอ เพราะกำหนดส่งสินค้ามีเวลาหลายเดือนมาก จนกระทั่งวันหนึ่ง... ผมก็จำไม่ได้ว่าเป็นวันไหน ก็มีใครหรือจะเป็น อ.อภินันท์เอง ผมก็จำไม่ได้เหมือนกัน หยิบเอกสารมาดูแล้วก็ร้องว่า “ตายห่า... คลื่นความถี่ที่ได้รับอนุมัติมา มันตกขอบหน้าปัดเครื่องรับวิทยุ FM ของชาวบ้านนี่หว่า” ยังงี้เราก็ไม่สามารถส่งวิทยุออกอากาศให้ชาวบ้านรับฟังได้นะสิ
เรื่องของเรื่องก็คือ ในการขออนุมัติคลื่นความถี่วิทยุจากกรมไปรษณีย์โทรเลข เราได้ให้เหตุผลการขอมีเครื่องส่งไปว่าเอาไว้ใช้เพื่อการศึกษา ไม่ได้เอาไว้ออกอากาศหรือเพื่อการ ปชส. ของ ม.อ. เขาจึงอนุมัติความถี่ 87.5 MHz มาให้ เครียดกันละสิครับ! แต่ยังมีความโชคดีที่ทางบริษัททั้งสองยังไม่ได้แพ็คและส่งของลงเรือ จึงยังน่าจะพอเปลี่ยนแปลงได้ หลังจากปรึกษากันกับใครบ้างก็จำไมได้อีกแล้ว อ.อภินันท์จึงตัดสินใจให้ผมทำจดหมายแจ้งบริษัททั้งสองอย่างเร่งด่วนว่าขอเปลี่ยนความถี่ของอุปกรณ์แต่ละอย่างเป็น 88 MHz ซึ่งเป็นความถี่ที่ใกล้เคียงกับความถี่เดิมมากที่สุดที่ไม่ตกขอบหน้าปัดเครื่องรับวิทยุ FM ความถี่ของสถานีวิทยุ ม.อ. FM จึงต้องเป็น 88 MHz ด้วยเหตุผลนี้ครับ เอวัง... เอ๊ย เดี๋ยวก่อน ยังจบไม่ได้ เดี๋ยวยังต้องมีให้เล่าอีกนิดนึงครับ
เหตุผลที่ต้องเลือกความถี่ที่ใกล้เคียงกับความถี่เดิมมากที่สุด ทั้ง ๆ ที่ในเวลานั้นวิทยุ FM ในหาดใหญ่มีออกอากาศอยู่เพียงไม่กี่สถานี ยังมีคลื่นความถี่ว่างอีกมาก ก็เพราะเป็นเหตุผลทางเทคนิค ที่ไม่ต้องการให้มีผลกระทบกับอุปกรณ์ทั้งสองมาก เพราะเขาได้ผลิตและ tune เสร็จเรียบร้อยพร้อมจะส่งแล้ว การ tune ความถี่ของเครื่องส่งออกไปจากเดิมเพียงเล็กน้อยอยู่ในวิสัยที่ทำได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนตัว crystal สร้างความถี่ และทำให้มีค่าใช้จ่ายเพียงค่าแรงเท่านั้น ส่วนการเ tune ความถี่ของเสาอากาศจะยุ่งยากกว่าพอสมควร แต่โชคดีที่เราเปลี่ยนเป็นความถี่สูงขึ้น การ tune จึงสามารถทำได้โดยการตัดแต่ละ bay ของเสาอากาศให้สั้นลง ซึ่งถ้ากลับกันคือเปลี่ยนเป็นความถี่ต่ำลง จะไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะจะต้องเพิ่มความยาวของแต่ละ bay ของเสาอากาศ และหมายถึงจะต้องเปลี่ยนเสาอากาศใหม่ทั้งตัว และโชคดีอีกครั้งที่บริษัททั้งสองยินดีปรับเปลี่ยนความถี่ของอุปกรณ์แต่ละชิ้นให้โดยไม่คิดเงินครับ
เอวังก็มีด้วยประการนี้.....
11 เม.ย. 2561
Edited: 14 เม.ย. 2561
หลังจากส่งจดหมายถึงบริษัททั้ง 2 ให้ปรับเปลี่ยนความถี่แล้ว ภาควิชาฯ ก็รีบทำหนังสือถึงกรมไปรษณีย์โทรเลขเพื่อขอคลื่นความถี่ใหม่เป็น 88 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งก็ได้รับอนุมัติในเวลาต่อมา
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ฯชุมนุมสหกร...
ความเห็น
ขอบคุณมากครับ และรู้สึกยินดีที่มีคนอ่านแล้วชอบ เป็นกำลังใจให้อยากเขียนต่อเรื่องอื่นอีก แต่ไม่รู้เมื่อไหร่จะได้เขียนอีกนะครับเป็นคนไม่ค่อยขยันเขียนสักเท่าไหร่
ด้วยความขอบคุณอย่างยิ่งเลยค่ะ อาจารย์สะดวกเมื่อไหร่ก็จะรออ่านค่ะ อยากเขียนเมื่อไหร่ก็ลงมือได้เมื่อนั้นเลยค่ะ รับรองว่าจะตามมาอ่านทันทีค่ะ
12 เมษายน 2561 16:06
#108061
อู้หูว...เป็นเรื่องราวที่สมควรบันทึกไว้ในวง Share อย่างยิ่งเลยนะคะ อาจารย์ ขอบคุณมากๆค่ะ อ่านสนุกและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของม.อ.เราจริงๆค่ะ
อาจารย์เขียนได้อ่านสนุกด้วยค่ะ ถ้ามีเรื่องเล่าแต่ก่อนมาเล่าอีกจะมาปูเสื่อรออ่านเลยค่ะ