ความเห็น: 1
ดัชนีวัดสุขภาพชุมชนวิจัย
วันนี้ผมจะนำประสบการณ์ในการเป็นวิทยากรที่ปรึกษาการวางแผนยุทธศาสตร์คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เขตการศึกษาสุราษฎร์ธานีมาเล่าให้ฟังครับ
จริงๆ แล้วผมได้รับประสบการที่น่าประทับใจหลายอย่างทีเดียวครับ ในช่วงที่พวกเราได้ทำ Workshops ด้วยกัน
ที่ประทับใจเป็นพิเศษ คือ ตลอดทั้งสองเดือนที่เราได้ร่วมทำงานด้วยกัน นอกจากบุคลากรทุกคน จะเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการในช่วงเย็น สัปดาห์ละสองถึงสามครั้ง แล้ว ผู้บริหารทุกคนก็ได้มีส่วนร่วมอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา…ไม่ใช่เฉพาะวันเปิดและวันปิดงาน
ครับ…ทุกคนทำงานด้วยใจ ใจที่มุ่งหวังอยากเห็น “บ้าน” ของตนพัฒนาไปในแนวทางที่ดีขึ้น
หมายคนอาจจะสงสัยว่าทำไม การวางแผนยุทธศาสตร์ของพวกเราจึงใช้เวลานานมาก ถึงสองดือน
คำตอบคือ…คงจะไม่นานขนาดนี้ครับ ถ้าเป้าหมายหลัก คือ การได้มาซึ่งแผนยุทธศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่ที่นานขนาดนี้ เป็นเพราะ เราใช้กระบวนการวางแผนยุทธศาสตร์เป็นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน ถึง ทิศทาง ความมุ่งหวัง เป้าหมาย กลยุทธ์ และเนื้องาน ที่เราจะต้องทำ งานนี้ ผลลัพธ์จึงไม่ใช่ได้แค่ “แผน” ครับ ยังได้ “ใจที่รวมกันเป็นหนึ่ง” ด้วย
ถ้าปราศจากสิ่งเหล่านี้แล้ว…ผมคิดว่า คงจะยากครับ ที่จะ “เริ่ม”
-------------------------------------------
ณ วันนั้นเราพยายามจะกำหนดเป้าหมายการพัฒนาคณะ โดยมีเป้าหมายระยะยาวเป้าหมายหนึ่ง คือ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เป็นคณะที่บุคลากร Active ที่จะทำงานวิจัย
และเมื่อได้เป้าแล้ว….ประเด็นถัดมา คือ แล้วจะชี้วัดความสำเร็จของเป้าหมายดังกล่าวได้อย่างไร
ตัวชี้วัดเดิมๆ ที่ใช้อยู่ ก็เป็นตัวชี้วัด “ผลลัพธ์” ที่สุดปลายอุโมงค์ จะรู้อีกทีก็ต่อเมื่อมีผลงานออกมาแล้ว
เรารู้สึกกันว่า “มันจะมีประโยชน์อะไรที่จะวัดเฉพาะสิ่งที่ ผ่านไปแล้ว”
เราน่าจะกำหนดตัวชี้วัดกันใหม่ ที่สามารถบ่งชี้ให้เห็นสถานภาพปัจจุบันของเราได้มากที่สุด สภาพปัจจุบันที่สามารถเป็นได้ทั้งกระจกส่องสะท้อนให้เห็นความสำเร็จของความพยายามในอดีต และ เป็นทั้ง คู่มือ ลายแทงเพื่อเดินไปสู่อนาคต
โดยสรุป…โจทย์ คือ เราต้องหาตัวชี้วัดที่สามารถทำให้เห็นภาพรวมของการ Active งานวิจัยของบุคลากรทั้งคณะ และต้องสามารถนำเสนอในรูปแบบที่ง่ายต่อความเข้าใจและส่งผลกระทบทางจิตวิทยาของผู้มีส่วนได้เสีย
ในเวลาที่จำกัด…โจทย์นี้แสนจะยากครับ
ผลของความพยายาม…เราได้ ดัชนีวัดความก้าวหน้าของการทำงานวิจัย (Research Progression Index) (.doc) ซึ่งช่วยทำให้สามารถมองเห็นภาพรวมของความกระตือรือร้นในการทำงานวิจัยระดับคณะ
น่าจะเรียกได้ว่าเป็นดัชนีวัดสุขภาพของชุมชนวิจัย ซึ่งถ้าตัวเลขมีค่าสูงขึ้นแสดงว่าเรากำลังจะก้าวสู่การเป็นชุมชนวิจัยที่มีสุขภาพแข็งแรง
…ก็เป็นเพียงแต่หนึ่งแนวคิดครับ
เราพยายามกันเหลือเกินเพื่อไปให้ถึงการเป็นสู่ชุมชนวิจัยสุขภาพดี…นี่เป็นความพยายามหนึ่งครับ
บางทีมันอาจจะไม่ใช่ทางออกที่หลายคนกำลังตามหาอยู่ แต่ผมหวังว่า สำหรับใครบางคน มันอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถาม “ใหม่”ซึ่งจะสามารถนำไปยังทางออกที่ต้องการได้
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « กลไกความสำเร็จของการจัดการยุทธศา...
- ใหม่กว่า » แผนที่ยุทธศาสตร์ (Strategy Maps)...
13 พฤศจิกายน 2550 17:22
#1408
ได้กลิ่นความหลัง ครั้งที่เริ่มบุกเบิกงานที่วข.หาดใหญ่กลับมา ครั้งที่ผู้คนยังไม่มากมาย แต่ความสัมพันธ์ค่อนข้างแนบแน่น รู้จักกันทั้งวิทยาเขต ร่วมแรงร่วมใจกันทุกอย่าง ปลูกต้นไม้ด้วยกัน ร้องเพลงด้วยกัน อธิการบดีเรียกพบปะกันทั้งหมดในห้อง ๆ เดียว บรรยากาศที่ดีมากมาย...