ความเห็น: 1
Lab Staff Attachment in ASEAN 2014
ตนเองและน้องใบไม้หลากสี เป็นสองนักวิทยาศาสตร์ อยู่ศูนย์เครื่องมือกลาง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งปีนี้เราจัดโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้บุคลากรสายปฏิบัติการในประเทศอาเซียน ประจำปี ๒๕๕๗ เป็นปีที่สองแล้ว ซึ่งโครงการนี้ได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี จากการทัศนศึกษาดูงานเมื่อปีที่แล้ว ณ USM ประเทศมาเลเซีย ทั้ง Engineering campus และ Main campus บนเกาะปีนัง
จากปีที่แล้ว ที่เราเดินทางไปดูงานกันเป็นหมู่คณะจำนวน ๑ คันรถบัส ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ประจำห้องปฏบัติการล้วนๆ พร้อมทั้งมีโอกาสได้เตะฟุตบอลชายและวอลเลย์บอลหญิงกระชับมิตรด้วย (เราแพ้เจ้าภาพทั้งสองรายการ) จนมาถึงปีนี้ ทีมงาน ซึ่งประกอบด้วยหน่วยวิเทศน์สัมพันธ์ด้วย ได้ลงความเห็นว่า เราจะเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานโครงการ ASEAN ของสายปฏิบัติการเป็นแบบ Lab attachment หรือการเข้าฝึกงานระยะสั้นแทน
ลักษณะโครงการนั้น เราจะให้เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการซึ่งมีทั้งนักวิทยาศาสตร์ ช่างเทคนิค และคนงานห้องทดลอง [ปัจจุบันเรามีจำนวน ๔๓ คน] เดินทางด้วยตนเองไปยังประเทศใน ASEAN เพื่อศึกษาดูงานและฝึกปฏิบัติการระยะสั้นจำนวน ๑ สัปดาห์
เบื้องต้น กำหนดให้เดินทางด้วยตนเองคนเดียว แต่ภายหลัง ลดหย่อนให้สามารถเดินทางกันเป็นกลุ่มเล็กได้ แต่ต้องเข้าปฏิบัติการคนละภาค/แผนกกัน โดยกำหนดให้เดินทางในช่วงเวลาที่สะดวกกันทั้งบุคลากรของเรา และมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ในช่วงปิดเทอมใหญ่ หรือ มี.ค.-ก.ค. ๕๗ นี้
แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัด ทำให้เราได้โค้วต้าผู้เข้าร่วมโครงการเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด คือ จำนวน ๒๓ คน มีระยะเวลาสมัครในช่วงเดือน ธ.ค. ๕๖ ที่ผ่านมา จนมาถึงเดือน ม.ค. ๕๗ นี้ สรุปว่ามีผู้สมัครเข้ามาเพียง ๑๒ คน ไม่ถึงโค้วต้าที่ต้องการด้วยซ้ำ
สำหรับเป้าหมายของกิจกรรมนี้ พูดง่ายๆ ว่ามี ๓ อย่าง คือ หนึ่ง สร้างเสริมประสบการณ์เพื่อพัฒนาตนเอง สอง กระตุ้นทักษะภาษาอังกฤษ เพื่อเข้าสู่อาเซียน และ สาม สร้างเครือข่ายห้องปฏิบัติการในอาเซียน
แต่ความยาก หรือความแปลกใหม่ของงานนี้ คือ การเปิดโอกาสให้บุคลากรที่มักถูกลืม ได้มีโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศบ้าง โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอย่างเต็มที่ ไม่ได้เป็นการส่งบุคลากรสายวิชาการ หรือ นักศึกษาไปต่างประเทศ แบบที่ผ่านมา
บุคลากรสายปฏิบัติการ ที่มีทั้ง ป.ตรี ปวส. และ ม.๖ และที่สำคัญ มหาวิทยาลัยบางแห่งอาจยังไม่ได้เป็นเครือข่ายที่เหนียวแน่น ชัดเจนกับเรา หมายถึงว่า บุคลากรสายปฏิบัติการของเรา จะเปรียบเสมือนเป็นผู้บุกเบิก การสร้างเครือข่ายระดับคณะ/มหาวิทยาลัยให้เราด้วย
แต่บุคลากรส่วนใหญ่ของเรา ยังคงมีความกังวล ไม่กล้า และไม่สะดวกที่จะแพ็คกระเป๋าเดินทางไปเปิดหูเปิดตา ณ ต่างประเทศคนเดียว โดยเฉพาะการใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารตลอดการเดินทางและศึกษาดูงาน
ดังนั้น จึงมีผู้สมัครเข้ามาเพียง ๑๒ คน จากจำนวนกลุ่มพวกเรา ๔๓ คน ซึ่งทุกคนที่สมัครเข้าร่วมกิจกรรม ทางคณะออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด แม้ว่าบางคนบางกลุ่มจะเดินทางด้วยเครื่องบินไปถึง บรูไน และเวียดนามก็ตาม ทั้งนี้ต้องขอบคุณท่านคณบดี ที่หางบประมาณมาให้ทุกคนได้มีโอกาสในการพัฒนาตนเองในโครงการนี้ เฉลี่ยค่าใช้จ่ายอยู่ในหลักหมื่นบาทต่อคนทีเดียว
เรื่องราวโครงการนี้ เพิ่งเริ่มต้นขึ้น ขั้นตอนการรับสมัครผ่านไปแล้ว แต่ระยะเวลาสองสามเดือนข้างหน้า คือการประสานงานไปยังประเทศและหน่วยงานที่คณะต้องส่งคนของเราไปใช้ชีวิตอยู่ในระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งผู้สมัครเข้าโครงการทุกคนต่างมีความตื่นเต้น และตั้งใจในการพัฒนาตนเองจริงๆ ขอชื่นชมในความกล้า และดีใจด้วยที่ทุกคนได้รับโอกาสดีๆ แบบนี้
ยังไม่จบ ไว้ต่อภาค ๒ นะครับ
เอิ้ก เอิ้ก
"ใจสั่งมา"
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « ข้อคิดจากเสวนา มูลวัว มูลแพะฯ (๗...
- ใหม่กว่า » โครงการนำร่องเพื่อเชื่อมโยงและยก...
01 กุมภาพันธ์ 2557 06:40
#95578
อยากไปบ้าง แม้ว่าภาษาไม่ค่อยชับ
แต่วิชาเอาตัวรอดมี อยู่เหลือกำลัง 555