ความเห็น: 0
ม.อ.เปิดศูนย์ฝึกผ่าตัดอาจารย์ใหญ่
คณะวิทยาศาสตร์และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมมือเปิดศูนย์ฝึกผ่าตัดอาจารย์ใหญ่ (PSU Cadaveric Surgical Training Center) รองรับการฝึกอบรมในหลายๆสาขา ทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติได้ในอนาคต เป็นประโยชน์กับแพทย์ฝึกหัดและแพทย์เฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้อง ลดความเสี่ยงในการผ่าตัดในผู้ป่วยจริง ทำให้การผ่าตัดในผู้ป่วยจริงมีประสิทธิภาพมากขึ้นและ โดย รศ.ดร. จุฑามาส ศตสุข รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นประธานในพิธีเปิด เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 โดยคณาจารย์จากทั้งสองคณะร่วมเป็นเกียรติ
รศ.ดร.วิไลวรรณ โชติเกียรติ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มีการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ร่างอาจารย์ใหญ่ โดยทำการสอนแก่นักศึกษาสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ อาทิ คณะแพทยศาสตร์ คณะทันตแพทยศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์ และมีบทบาทในการให้บริการวิชาการ ในรูปแบบของการจัดโครงการฝึกผ่าตัดโดยใช้ร่างอาจารย์ใหญ่ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ ในการฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ เช่น ศัลยแพทย์ ออโธปิดิกส์ ประสาทศัลยศาสตร์ และ หูคอจมูก เป็นต้น โดยได้มีการร่วมมือกันทางวิชาการมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2555
ต่อมาจึงมีการพัฒนาความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม ที่ชัดเจน มีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ตั้งแต่เดือน สิงหาคม ปี พ.ศ. 2558 จึงเกิดเป็นศูนย์ฝึกผ่าตัดอาจารย์ใหญ่ขึ้น ภาระกิจของศูนย์ฝึกผ่าตัดนี้ จะเกี่ยวข้องกับการจัดอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ โดยใช้ร่างอาจารย์ใหญ่ ในฝึกพัฒนาทักษะการผ่าตัด ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับแพทย์ อันจะนำไปสู่การรักษาผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะเดียวกัน จากความร่วมมือดังกล่าว ยังรวมไปถึงการพัฒนางานวิจัยด้านการรักษาสภาพร่างอาจารย์ใหญ่ ด้วยเทคนิคที่เหมาะสม เช่น ศพนิ่ม (Soft cadaver) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไปในภายภาคหน้า ต่อการเรียนการสอนในวิชากายวิภาคศาสตร์ ที่จะช่วยลดปัญหาเรื่องฟอร์มาลิน และช่วยให้การฝึกผ่าตัดของแพทย์เฉพาะทางมีความทันสมัย เป็นสากลมากยิ่งขึ้น
รศ.นพ. สุธรรม ปิ่นเจริญ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า วิทยาการทางด้านการแพทย์ในการรักษาด้วยการผ่าตัดได้มีการพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างมาก โดยมีการทำหัตถการใหม่ๆ รวมถึงการพัฒนาอุปกรณ์ช่วยในการผ่าตัด หรือเครื่องมือพิเศษต่างๆ แต่การฝึกการผ่าตัดให้เกิดความชำนาญจำเป็นจะต้องมีการฝึกผ่าตัดในร่างกายคนจริง ดังนั้นการได้ฝึกผ่าตัดโดยใช้ร่างอาจารย์ใหญ่จึงมีความจำเป็นอย่างมากในการที่จะช่วยให้ศัลยแพทย์ได้มีการฝึกทักษะพื้นฐาน ฝึกทักษะทางด้านหัตถการใหม่ๆ หรือฝึกการใช้เครื่องมือต่างๆในการช่วยผ่าตัด เพิ่มโอกาสในการฝึกซ้อมด้วยหัตถการทางการแพทย์ภายใต้การกำกับดูแลจากอาจารย์แพทย์และผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด ทำให้เกิดความชำนาญในการผ่าตัดก่อนที่จะไปรักษาผู้ป่วยจริง ทำให้การรักษาผู้ป่วยมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « เริ่มแล้ว....มอง ม.อ.ผ่าน Google...
- ใหม่กว่า » นักศึกษาปริญญาโท คณะศิลปศาสตร์คว...
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้