ความเห็น: 0
ม.สงขลานครินทร์ ทุกคณะ หน่วยงาน ร่วมใจลดการใช้พลาสติก ดีเดย์ 1 กุมภาพันธ์ 2562
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เดินหน้ารณรงค์ โครงการ “ม.อ.ร่วมใจลดการใช้พลาสติก” หลังประสบความสำเร็จในการเลิกใช้โฟมบรรจุอาหาร สร้างจิตสำนึกที่ดีในการรักษาสิ่งแวดล้อมแก่ผู้ประกอบการ – ร้านค้า ให้เกิดความตื่นตัวลดใช้พลาสติก เปลี่ยนใช้ถุงผ้า – กระบอกน้ำ หวังลดปริมาณขยะที่เกิดจากถุงพลาสติก พร้อมมุ่งสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว มุ่งให้บุคลากรและนักศึกษามีจิตสำนึกที่ดีในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมีบุคลากรสำนักอธิการบดี ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก
ผศ.วศิน สุวรรณรัตน์ รองอธิการบดีวิทยาเขตหาดใหญ่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ตั้งแต่ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ร้านค้าในสำนักงานอธิการบดีต้องไม่ใช้ถุงพลาสติก/หลอด/ฝา/แก้ว พลาสติกทั้งหมด โดยทางวิทยาเขตหาดใหญ่ จะมอบ กระบอกน้ำ ถุงผ้า แก่บุคลากร เพื่อใช้หมุนเวียนแทนการใช้ถุงพลาสติก/หลอด/ฝา/แก้ว พลาสติก และทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะมีการอบรมให้ความรู้บุคลากรเกี่ยวกับการจัดการและพิษภัยของขยะพลาสติก และการ ลงนามความร่วมมือการลดใช้พลาสติก ระหว่างรองอธิการบดีวิทยาเขตหาดใหญ่ และผู้อำนวยการกอง/หัวหน้าหน่วย ในสำนักงานอธิการบดี ต่อไป
ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ร่วมรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติก หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการเลิกใช้โฟมบรรจุอาหาร เพื่อมุ่งให้บุคลากรและนักศึกษามีจิตสำนึกที่ดีในการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยผู้ประกอบการมีความตื่นตัวและให้ความร่วมมือ ในการลดใช้พลาสติก โดยเปลี่ยนมาใช้ถุงผ้า รวมทั้งใช้กระบอกน้ำแทนแก้วพลาสติก ช่วยลดปริมาณของขยะที่เกิดจากถุงพลาสติก เป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มุ่งสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว ซึ่งเป็นผลดีต่อประเทศไทย เป็นการลดภาวะโลกร้อนให้กับโลกของเรา
กิจกรรมในครั้งนี้ น.ส.ฐิติรัชต์ ไม้เรียง ประธานคณะกรรมการ 5 ส.สำนักงานอธิการบดี คณะกรรมการ สนอ.สัมพันธ์ ร่วมด้วยบุคลากรสำนักงานอธิการบดี และนางสาวจิดาภา ช้างประเสริฐ นางนพมาศ ประจำปี 2561 คณะศิลปศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 ซึ่งตัวแทนนักศึกษา ได้ร่วมกันรณรงค์เชิญชวน ลด ละ เลิก การใช้พลาสติก และเดินรณรงค์ตามกองต่าง ๆ ของสำนักงานอธิการบดี โดยมีจุดสิ้นสุดที่ศูนย์อาหารโรงช้าง ภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ทั้งนี้ ขยะ พลาสติก จำนวนมากที่พบอยู่ในอ่าวไทยข้างต้นนี้ เมื่อถูกแสงแดด ออกซิเจน และคลื่นจากกระแสน้ำทะเลจะผุพังและแตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จนมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับหรือเล็กกว่า 5 ม.ม. ที่ถูกเรียกว่า ไมโคร พลาสติก ดังนั้นถุงพลาสติกหรือแก้วพลาสติก 1 ชิ้น เมื่อถูกทิ้งลงสู่ทะเลเมื่อเวลาผ่านไปจะผุพัง แตกหัก สลายตัวกลายเป็น ไมโครพลาสติก จำนวนหลายพันชิ้น และสามารถล่องลอยไปทั่วโลกตั้งแต่ผิวน้ำจนถึงใต้ท้องทะเล และ จึงทำให้สิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆในทะเลกินมันเข้าไป และสะสมอยู่ในตัวมัน และปนเปื้อนอยู่ในห่วงโซ่อาหารของมนุษย์
นอกจากนี้ขยะ ไมโครพลาสติก ในทะเลเหล่านี้ต้องใช้เวลานานนับ 400-500 ปี จึงสามารถย่อยสลายตัวได้ทั้งหมด จึงเป็นผลให้ปริมาณขยะ ไมโครพลาสติก ในทะเลนับวันจะมีเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ เนื่องจากปริมาณขยะที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเลทั่วโลก ปีละ 8 ล้านตัน/ปี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ภายในปี พ.ศ. 2573 โดย 80% ของขยะที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเลเป็นขยะ พลาสติก
จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยด่วน
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « วิ่งเพื่อให้ด้วยใจแบ่งปัน คณะพยา...
- ใหม่กว่า » ศูนย์บริการวิชาการ ม.สงขลานครินท...
ร่วมแสดงความเห็นในหน้านี้