ความเห็น: 1
ภารกิจวันนี้ 27 ก.พ.58: อันตรายจากสารเคมี การป้องกัน การจัดการ
วันนี้วันศุกร์ ทำภารกิจหลายอย่าง ทั้งในและนอกสถานที่ อย่างตอนเช้าไปเป็นวิทยากรเรื่องสารเคมีให้หน่วยงานแห่งหนึ่งในจังหวัดปัตตานี ที่มีผู้เข้าฟังเป็นตัวแทนจากโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัด
ส่วนตอนบ่ายสามไปแล้ว กลับมาที่ทำงานอีกครั้ง เพื่อดูเรื่องระบบกรองน้ำ DI และผลการวิเคราะห์ไนโตรเจน ก่อนกลับบ้าน แวะรับของขวัญชิ้นแรกของลูกที่ ผศ.ดร.อโนมา เตรียมไว้ให้ อิอิ เป็นของขวัญที่ดี ทันสมัยมาก
ถึงบ้าน ก็ติดตั้งผ้าม่านประตูหน้าบ้านแบบ DIY โดยผ้าม่านและราวแขวนจาก HP ซึ่งค่อยมาอธิบายรายละเอียดกันต่อไป
บันทึกนี้ขอแบ่งปันเรื่องสารเคมี การจัดเก็บ ความปลอดภัยในบางแง่มุมที่อาจจะน่าสนใจไว้สักหน่อย เผื่อบางข้อหลายท่านอาจยังไม่ทราบครับ
- โรงงานอุตสาหกรรมหลักในปัตตานี คือโรงงานอาหารแช่แข็ง และผลิตน้ำแข็ง ซึ่งมีการใช้แอมโมเนียเหลวเป็นสารทำความเย็น โดยคนงานส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าแอมโมเนียเป็นสารที่ระเบิดได้ เพราะค่า LEL หรือ เปอร์เซ็นที่จะติดไฟได้ช่วงล่างสุดมีค่าสูง หรือระเบิดยาก (มีค่า 16%) หมายถึงหากมีการรั่วไหลของแอมโมเนียและผสมอยู่ในอากาศถึง 16% ก็สามารถเกิดการระเบิดได้
- เปรียบเทียบค่า LEL จากสารตัวอื่นให้เข้าใจง่าย เช่น Gasoline มีค่า LEL เพียง 1% จึงสามารถเกิดการระเบิดได้ง่าย เมื่อมีประกายไฟ
- ค่า LEL ของกรด Acetic มีค่าเท่ากับ 4% ซึ่งอย่างเพิ่งตกใจ ว่ากรดน้ำส้มระเบิดได้ เพราะกรดน้ำส้มไม่ได้ระเหยกันง่ายๆ แบบน้ำมัน หรือ แอมโมเนีย เราจึงไม่เคยเจอเหตุการณ์ที่น้ำส้มสายชูเกิดการระเบิดนั่นเอง
- แผลไหม้ของการสัมผัสแอมโมเนียเป็นลักษณะผื่นสีขาวในช่วงแรก แต่จะแสบ เพราะการถูกทำลายของเซลล์ผิวหนัง เรียกแผลไหม้ชนิดนี้ว่า Cold Burn
- พื้นห้องเก็บสารเคมีควรเป็นพื้นปูน กระเบื้อง ไม่ซึมน้ำ (เมื่อสารเคมีหก) เรียบ แต่ไม่ลื่น ป้องกันการล้ม ไถลของคนและรถยกของ และไม่ควรใช้ปาเก้ พื้นยางหรือ ลามีเนตที่สวยๆ ทันสมัยไฮโซ เพราะพื้นควรสามารถนำไฟฟ้าได้ ป้องกันการเกิดไฟฟ้าสถิตด้วยครับ
- ทางออกประตูฉุกเฉินในอาคารต้องไม่ห่างเกิน 35 เมตร และต้องมีปุ่มเตือนภัย ทุกๆ 30 เมตร เป็นอย่างน้อย ส่วนสายดับเพลิงต้องมีทุก 50 เมตรเป็นอย่างน้อย ว่างๆ ลองวัดดูได้นะครับ
- ห้องเก็บถังแก๊สต้องมีแก๊สไวไฟได้ไม่เกิน 25 ท่อต่อห้อง ส่วนแก๊สอัดทั่วไปที่ไม่ไวไฟ (เช่น N2, He, Ae) ให้เก็บไว้ได้ไม่เกิน 50 ท่อ
- จำนวนอ่างล้างหน้า หรือล้างมือ ล้างตัวของคนงานต้องมีอย่างน้อย 15 คน ต่อ 1 จุด หรือ 1 อ่าง
- หากมีปลั๊ก หรือ สวิตไฟฟ้าในห้องเก็บสารเคมี โดยเฉพาะสารไวไฟ ต้องติดตั้งให้ห่างจากชั้นเก็บสารไม่น้อยกว่า 50 เซนติเมตร หรือควรทำสวิตไฟเปิดปิดไว้ด้านนอกห้องตั้งแต่แรก
- สาเหตุของเพลิงไหม้ในร้านขายของเก่า มักเกิดจากเศษอลูมิเนียมที่คนงานนำมาตัดหรือป่นเป็นชิ้นเล็กๆ ซึ่งเมื่อมีการลุกไหม้ของกระดาษหรือพลาสติก แล้วเราดับไฟด้วยน้ำ อะลูมิเนียมผงมันจะยิ่งลุกติดไฟมากขึ้น ดังนั้น ไม่ควรย่อย หรือป่นอลูมิเนียมให้เป็นชิ้นเล็กๆ
- ฟอสฟอรัสต้องเก็บไว้ในน้ำ ส่วนโซเดียมต้องเก็บไว้ในน้ำมัน อย่าจำสลับกันนะครับ
- ห้องเก็บสารเคมี ควรมีช่องระบายอากาศ หรือ หน้าต่างที่มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 1 ต่อ 10 ของพื้นที่ผนังทึบ ดังนั้น ห้องเก็บสารเคมีต้องไม่อยู่ในห้องใจกลางตึก หรือห้องปิดมิดชิด (คล้ายที่ตาบอด)
- หากเกิดอุบัติเหตุดื่มกรด หรือ เบสเข้าไป อย่าให้ผู้ป่วยอาเจียน เพราะมันจะย้อนกลับมาทำลายระบบทางเดินอาหารอีกรอบ (ให้ดื่มน้ำ หรือ นมมากๆ สัก 1-2 แก้ว) ส่วนการกลืนกินโลหะหนัก ยาฆ่าแมลง หรือสารพิษ เช่น ไซยาไนด์ ให้ทำให้อาเจียนได้ โดยเฉพาะโลหะหนัก อาจให้กินไข่ขาว เพราะจะเกิดปฏิกิริยาจับกับโลหะหนักเป็นก้อน สามารถอาเจียนออกมาได้ง่ายขึ้น
- คำถาม: กรดกับเบสกระเด็นเข้าตา อะไรอันตรายมากกว่ากัน ?
แลกเปลี่ยนเรียนรู้: เมื่อกรดสัมผัสเยื่อบุตา จะเกิดการแปลงสภาพของโปรตีน เกิดเป็นเยื่อสีขาวหุ้มลูกตาทันที คล้ายต้อกระจก จึงสามารถกันไม่ให้กรดส่วนที่เหลือซึมเข้าไปในเนื้อเยื่อชั้นต่อไปได้ ส่วนเบสนั้นจะไม่ทำปฏิกิริยากับเนื้อเยื่อโดยทันที จึงสามารถซึมเข้าไปในเซลล์ได้มากกว่า จึงอาจมีความอันตรายมากกว่ากรดครับ
คติประจำบันทึก 1 : โจรปล้นโรงงาน 10 ครั้ง ไม่เท่าไฟไหม้ครั้งเดียว
คติประจำบันทึก 2 : สารเคมีกระเด็นโดนมือ 10 ครั้ง ก็ไม่เท่ากระเด็นเข้าตาครั้งเดียว [แว่นตาในห้องแลบสำคัญมากนะครับ]
เอิ้ก เอิ้ก
ป.ล. ขอขอบคุณความรู้จากห้องเรียนสมัยปริญญาตรี, ข้อมูลจาก พรบ.ด้านวัตถุอันตราย, เอกสารและมาตรฐานต่างๆของกรมโรงงาน และประสบการณ์ที่ได้รับจากการทำงานใน ม.อ. ครับ ^^
"ใจสั่งมา"
บันทึกอื่นๆ
- เก่ากว่า « เปลี่ยน Social Media ให้เป็น Wor...
- ใหม่กว่า » การกลั่นไนโตรเจน VS การวัด pH
28 กุมภาพันธ์ 2558 14:25
#102115
มีประโยชน์ครับ